Custom Search

Search This Blog

Friday, August 20, 2010

แนะวิธีกำจัด 'หอยทาก' ศัตรูสำคัญของกล้วยไม้

นางชมพูนุท จรรยาเพศ นักสัตววิทยา 8 สำนักวิจัยพัฒนาอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร แนะเกษตรกรว่า เนื่องจากสวนกล้วยไม้ส่วนใหญ่มีความชื้นสูง มักพบหอยทากบกเข้าทำลายตาและหน่อดอกหรือใบ ถึงแม้ว่าความเสียหายจะไม่มากนัก แต่ถ้าไม่มีการจัดการใด ๆ ประชากรหอยจะเพิ่มสูงขึ้น จนก่อให้เกิดความเสียหายมากขึ้น นอกจากนี้หอยยังปล่อยเมือกไว้เป็นแนวตามทางเดินอาจจะเป็นสาเหตุให้เกิดเชื้อราซ้ำได้ และประการสำคัญคือการที่หอยปะปนไปกับกล้วยไม้ ที่ส่งต่างประเทศ เป็นสาเหตุให้ถูกเผาทำลาย นอกเหนือจากการต้องสูญเสียเงินจำนวนมหาศาลแล้วยังทำให้ไทยเสื่อมเสียชื่อเสียง

สำหรับมาตรการการป้องกัน การนำต้นไม้เข้าสวนจะต้องแยกไว้ต่างหาก เพราะอาจมีหอยและไข่หอย นอกจากนี้ยังต้องหมั่นตรวจในสวน โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนจะพบเห็นหอยทากได้ง่าย ถ้าหากเริ่มพบหอยทากตามพื้นดินแสดงว่าภายในปีต่อมาจะเริ่มไต่ขึ้นบนโต๊ะวางกล้วยไม้ ดังนั้นเมื่อมีการเปลี่ยนเครื่องปลูกใหม่ต้องระวัง ควรชุบเครื่องปลูกในสารฆ่าหอยหรืออบ หรือตากแห้งก่อนใช้งาน เพื่อกำจัดลูกหอยหรือไข่หอย

วิธีการกำจัดหอยทากชนิดตัวใหญ่ ได้แก่ หอยสาลิกา หอยดักดาน หรือหอยทากยักษ์แอฟริกาให้เก็บออกมาทุบทำลาย หรือใช้เหยื่อพิษสำเร็จรูปเมทัลดีไฮด์ ซึ่งเป็นเม็ด วางโคนต้น ภายหลังให้น้ำกล้วยไม้ ในวันที่ฝนไม่ตก เพื่อให้เหยื่อพิษมีประสิทธิภาพอยู่ได้นานหลายวัน

หอยชนิดเล็ก ได้แก่ หอยทากซัคซิเนีย หอยเจดีย์ใหญ่ หอยเจดีย์เล็ก และหอยหมายเลขหนึ่ง ระบาดมาก การใช้เหยื่อพิษแบบเม็ดหว่านให้ทั่วทั้งสวน ให้หอยทากเดินมาพบและกินหรือสัมผัส อาจจะได้ผลไม่ดีจึงแนะนำให้ใช้สารฆ่าหอย molluscicide ในรูปผง มาละลายน้ำแล้วพ่นด้วยเครื่องพ่นชนิดใช้แรงดัน หรือเครื่องสูบโยกสะพายหลังที่หัวพ่นมีรูใหญ่ และใช้แรงดันต่ำ เดินพ่นให้ช้ากว่าพ่นสารกำจัดวัชพืช โดยเลือกใช้ชนิดใดชนิดหนึ่งดังต่อไปนี้

1.เมทัลดีไฮด์ เป็นผงสีขาวผสมน้ำในอัตรา 40 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร

2.นิโคลซาไมด์ เป็นผงสีเหลืองผสมน้ำในอัตรา 40 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร

3.เมทิโอคาร์บ เป็นผงสีขาวผสมในน้ำอัตรา 60 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร

4.กากเมล็ดชา เป็นผงแช่น้ำไว้ 1 คืน อัตรา 1 กิโลกรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร

การใช้สารฆ่าหอยพ่นต้องให้ถูกตัวหอยมากที่สุด โดยพ่นในเวลาเช้าซึ่งยังมีความชื้นในอากาศ โดยพ่นน้ำเปล่าให้ทั่วตามพื้นทางเดินก่อนพ่นสารประมาณ 10 นาที เพื่อชักนำให้หอยทาก ออกมาจากที่ซ่อน เพราะขณะที่หอยทากเคลื่อนที่ส่วนกล้ามเนื้อที่ยื่นออกมาจะได้สัมผัสสารเต็มที่ นอกจากนี้ควรพ่นสารตามพื้นทางเดินระหว่างโต๊ะวางกล้วยไม้ เพื่อให้สารฆ่าหอยสัมผัสกับตัวหอยโดยตรง และหากพบหอยไต่ขึ้นอาศัยอยู่ในกาบมะพร้าวบนโต๊ะให้พ่นสารที่โคนต้นและที่กาบมะพร้าว โดยหลีกเลี่ยงส่วนดอกเพราะอาจเปื้อนคราบสาร หรือใช้สารฆ่าหอยแบบเม็ด เหยื่อพิษโรยบนเครื่องปลูกนั้นแทนการพ่น

เห็นได้ว่าหอยทากเป็นศัตรูของกล้วยไม้อีกประเภทหนึ่งที่เกษตรกรจะต้องกำจัดให้สิ้นซาก หากเกษตรกรไม่สนใจดูแลก็จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกกล้วยไม้ของไทย และจะเป็นผลเสียต่อชื่อเสียงของไทยในอนาคตด้วย ซึ่งเท่าที่ผ่านมาประเทศ คู่ค้ามักพบหอยทากติดไปกับกล้วยไม้ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหาย และถูกขึ้นบัญชีดำ ทำให้การส่งออกกล้วยไม้ไทยได้รับผลกระทบตามมาอีกด้วย
 
(ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 1 กันยายน 2551)